วันอังคารที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

อาภรณ์ไพร่ ไทยวิวัฒน์

สำหรับบุคคลทั่วไปในสังคมอย่างเราท่านทั้งหลายนั้น เมื่อพูดถึงเสื้อผ้าอาภรณ์หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาเสียเหลือเกิน บางคนอาจถึงกับพูดตัดบทว่า “ฉันจะสนใจไปทำไมในเมื่อเสื้อผ้าเป็นแค่เครื่องห่อคลุมร่างกายเท่านั้น” แต่หากลองวิเคราะห์ดู คำถามชวนขบคิดมากมายอาจผุดขึ้นในใจ เป็นต้นว่า กางเกงที่เราใส่ เสื้อที่เราสวมคืออะไร บ่งบอกอะไร มาจากไหน และทำไมเราจึงชอบใส่อย่างนี้ ไม่ชอบใส่อย่างนั้น

“ถ้าไม่มีอดีตก็ไม่มีปัจจุบัน”แน่นอนว่าสังคมไทยในแต่ละยุคสมัยมีหลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ มีหลักฐานมากมายทั้งที่เป็นลายลักษณ์อักษร สิ่งปลูกสร้าง และวิถีชีวิต ให้สืบเสาะค้นหา ในบรรดาหลักฐานทางวัฒนธรรม เสื้อผ้าอาภรณ์คือบทบันทึกหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าถึงอัตลักษณ์หรือตัวตนของกลุ่มชนอย่างแยบคาย

ในสังคมไทยยุคสมัยที่นำความเปลี่ยนแปลงเรื่องการแต่งกายมาสู่ไพร่ฟ้าคนธรรมดาสามัญมากที่สุด คงหนีไม่พ้นยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) นายกรัฐมนตรี (พ.ศ. 2481-2487) ผู้นำในยุคที่เรียกกันว่า “รัฐนิยม”

หนังสือ"ไทยใหม่วันจันทร์" พ.ศ. 2483

มาลานำไทย

จอมพล ป. พิบูลสงครามมีนโยบายหลักหรือวิสัยทัศน์ที่สำคัญคือ การนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนา และเป็นอารยะ ประเทศไทยในยุคนั้นจึงเกิดการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่เปลี่ยนชื่อจาก”สยาม” มาเป็น “ไทย” และรวมไปถึงเรื่องการแต่งกายของชนชั้นธรรมดาสามัญ ให้ผิดแผกไปจากวิถีดั้งเดิมที่ผู้ชายไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงนุ่งโจงกระเบน ห่มสไบ เปลี่ยนมาสวมเสื้อ ใส่กางเกง รองเท้า หรือแม้กระทั่งสวมหมวก เป็นนโยบายสำคัญในการสร้างชาติด้วยลัทธิชาตินิยม โดยมีเป้าหมายเพื่อปลูกฝังให้ประชาชนชาวไทยเป็นผู้มี “วัธนธัมดี มีศิลธัมดี มีอนามัยดี มีการแต่งกายเรียบร้อย มีที่พักอาศัยดี และมีที่ทำมาหากินดี"

อเนก นาวิกมูล นักเขียนสารคดี และนักประวัติศาสตร์ กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า “ผมคิดว่าดีนะที่เปลี่ยนแปลงไป เราแต่งตัวกันดีขึ้น จากที่เคยนุ่งโสร่ง นุ่งผ้าขาวม้า ซึ่งดูไม่ค่อยเป็นระเบียบ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนค่อนข้างใหญ่ และส่งผลจนมาถึงปัจจุบัน อย่างที่เราแต่งตัวกันอยู่ทุกวันนี้”

ในรัฐนิยมฉบับที่ 10 ลงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2489 เรื่อง “เครื่องแต่งกายของประชาชนชาวไทย” สรุปความรวมกับประกาศอื่นๆที่ออกไล่เลี่ยกันสรุปได้ใจความว่า ชาวไทยควรแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเมื่อปรากฏตัวในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณชน แล้วแยกประเภทเครื่องแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อย โดยกำหนดการแต่งกายและทรงผมแบบใหม่ ขอให้สตรีทุกคนไว้ผมยาว เลิกใช้ผ้าโจงกระเบนเปลี่ยนเป็นนุ่งผ้าถุง เลิกการใช้ผ้าผืนเดียวคาดอกหรือเปลือยกายท่อนบน ให้ใส่เสื้อแทน เป็นต้น ส่วนผู้ชายนั้นขอให้เลิกนุ่งกางเกงแพรสีต่างๆ หรือนุ่งผ้าม่วง เปลี่ยนมาเป็นนุ่งกางเกงขายาว กระทรวงทบวงกรมต่างๆ วางระเบียบเครื่องแต่งกายของข้าราชการในเวลาทำงานปกติและทั่วไปเพื่อให้เป็นแบบอย่างอันดีสำหรับประชาชน ในเวลาทำงานปกติข้าราชการหญิงต้องใส่เสื้อขาวนุ่งกระโปรงสีสุภาพ หรือผ้าถุง และสวมรองเท้าหุ้มส้น ถุงเท้าสั้นหรือยาว และต้องสวมหมวก สีของเครื่องแต่งกายนั้นถ้าเป็นงานกลางแจ้งควรใช้สีเทา ถ้าเป็นงานในร่มหรือเกี่ยวกับเครื่องจักร ควรใช้สีน้ำเงินเข้ม

รัฐบาลในยุคนั้นได้จัดตั้งสถาบัน และคณะกรรมการวางระเบียบเครื่องแต่งกายสตรี ทั้งที่เป็นข้าราชการและที่มีตำแหน่งเฝ้า ต่อมาได้มีการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ มีสาขาคือสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง มีหน้าที่อย่างหนึ่งคือพิจารณาเครื่องแต่งกายในโอกาสต่างๆ และกำหนดเครื่องแต่งกายผู้ประกอบอาชีพบางจำพวก เช่น คนขายอาหาร พนักงานเสิร์ฟ ช่างตัดผม มีการวางระเบียบปฏิบัติตลอดจนให้ความหมายของเครื่องแต่งกายชนิดต่างๆอย่างละเอียด

การใส่หมวกของสตรีเป็นเรื่องหนึ่งที่รัฐให้ความสำคัญมาก ถึงกับมีคำขวัญว่า “มาลานำชาติไทย” มีการแบ่งหมวกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือประเภททั่วไปและประเภทพิเศษ ประเภททั่วไปได้แก่หมวกที่ใช้ในการทำงานในชีวิตประจำวัน สวมใส่เพื่อความสุภาพเรียบร้อยสมกับประเพณีนิยม และเพื่อประโยชน์ในการกันแดด กันฝน กันน้ำค้าง มักเป็นหมวกที่มีลักษณะเรียบ ปีกเล็ก หรือไม่มีปีก สีสันไม่ฉูดฉาด สำหรับหมวกประเภทพิเศษ หมายถึงหมวกที่ใช้เป็นอาภรณ์ประดับเพิ่มความงาม มีการประดับด้วยอาภรณ์ต่างๆ ใช้ในโอกาสพิเศษ

การแต่งกายของชายไทยนั้น นิยมแต่งแบบสากล ประกอบด้วยหมวก เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือคอปิด ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นใน คอปกมีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย กางเกงขายาวแบบสากลสวมรองเท้าถุงเท้า นอกจากกางเกงขายาวที่สวมปกติแล้ว ชายนิยมนุ่งกางเกงที่เรียกว่า “กางเกงขาสั้นแบบไทย” คือกางเกงที่นักเรียนใช้หรือนิยมใส่เล่นกีฬา เป็นกางเกงขาสั้นเพียงแค่เข่า หรือใต้เข่าประมาณหนึ่งฝ่ามือ ถือว่าเป็นกางเกงสุภาพใช้ใส่ลำลอง หรือไปสโมสรก็ได้ เป็นที่นิยมมากในระหว่างน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อ ปี พ.ศ. 2485

การปฏิวัติวัฒนธรรมการแต่งกายนี้เกิดขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยรัฐพยายามให้มีการปฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายแบบใหม่อย่างทั่วถึง มีการเผยแพร่คำขวัญที่ว่า “สวมหมวก ไว้ผมยาว นุ่งถุง สวมเสื้อ สวมถุงเท้าหุ้มส้นหรือรัดส้น” โดยให้เหตุผลว่านุ่งผ้าถุงประหยัดมากกว่าการนุ่งโจงกระเบน

เอนกให้ความเห็นว่า “นี่เป็นยุคเปลี่ยนแปลงการแต่งตัวของไพร่ ส่วนเรื่องแฟชั่นหรือเทรนด์ในยุคนั้นเป็นเรื่องในรั้วในวัง เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ในวังหรือคนกลุ่มน้อยก็มักเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงเสมอ การแต่งตัวของคนแต่ละยุคสมัย บอกอะไรๆในสังคม ณ ช่วงเวลานั้นๆได้อยู่แล้ว

“แต่มันไม่ได้บอกทางตรง แต่จะเป็นเครื่องสังเกตต่างหาก ว่าช่วงไหนยุคไหนเป็นอย่างไร มีกินมีใช้ไหม ส่วนรัฐนิยมนั้นเป็นการชักชวนกึ่งบังคับ ไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย แต่ที่โดนจับไปก็มี แต่จะเป็นการตักเตือนมากกว่า และไม่อำนวยความสะดวกให้ เวลาไปติดต่อราชการ เช่นไปขึ้นอำเภอ แต่ผมเชื่อว่าจอมพล ป. ทำไปด้วยความหวังดี แล้วก็ทำให้อะไรๆดีขึ้น ผมว่าดีกว่าถอดเสื้อ แต่เดี๋ยวนี้ถอดเสื้อกันเยอะแยะ”

แต่เหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนั้น คือการปรับตัวให้รอดพ้นจากภาวะสงคราม ทำให้ไทยต้องเร่งฟื้นฟูประเทศอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มหาอำนาจทั้งหลายมองไทยว่าเป็นอารยะ ทั้งที่ขัดกับสภาพอากาศและลักษณะนิสัยของคนไทย ซึ่งเป็นเมืองร้อน ผู้คนไม่รีบเร่ง และนับแต่นั้นเป็นต้นมา “โลกว่าอารยะ” ก็ถาโถมเข้าสู่ไพร่ฟ้าประชาไทย

ปฎิทินของ"เดลิเมล์ วันจันทร์" พ.ศ. 2494

นุ่งห่มรสนิยม

พอชาวเราเริ่มเดินออกจากผ้าขาวม้า โจงกระเบน และผ้าแถบแล้ว การแต่งตัวของชาวบ้านร้านตลาดก็เริ่มเบี่ยงเบนไปจากการตอบสนองหรือรับใช้ความจำเป็นและรับใช้ชาติ ไปสู่การรับใช้ค่านิยมแห่งปัจเจกบุคคลพร้อมๆกับที่มายาภาพและรสนิยมต่างๆได้ก่อกำเนิดขึ้น ทั้งที่ได้แรงบันดาลใจจากรูปแบบการใช้ชีวิต เพลง และภาพยนตร์จากประเทศมหาอำนาจ เป็นยุคที่เปลี่ยนผ่านจาก รัฐนิยมมาเป็นการแต่งกายแบบสากลนิยม การแต่งกายของสตรี ราวปี พ.ศ.2490 เป็นต้นมา มีแฟชั่นกระโปรงนิวลุค ซึ่งต่อมาก็พัฒนาไปสู่กระโปรงสั้น ซึ่งมีทั้งแบบสั้นแค่เข่าและเหนือเข่าที่เรียกกันว่า มินิสเกิร์ตและไมโครสเกิร์ต ต่อมามีกระโปรงชุดติดกันทรงเอไลน์ (A-Line) ตามมาด้วย ชายกระโปรงยาวครึ่งน่องเรียกว่า ชุดมิดี้ ถ้ายาวถึงกรอมเท้าเรียกว่าชุด แมกซี่

สำหรับแฟชั่นกางเกง ที่กล่าวขวัญและสะดุดตามากก็คือทรงฮอตแพนต์ ซึ่งเป็นกางเกงขาสั้นถึงสั้นมาก ใช้ได้ทุกโอกาสความนิยมในกางเกงมีมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากสะดวกและกะทัดรัดกว่ากระโปรง ราวปี พ.ศ. 2525 เป็นยุคของกางเกงทรงจีบพองหรือรูดรอบๆ เอว ยาวแค่เข่าหรือข้อเท้า รองเท้าเปลี่ยนไปตามแฟชั่นเสื้อผ้า เช่น กระโปรงนิวลุคสวมกับรองเท้าหัวแหลมทั้งส้นเตี้ย และส้นสูง ส้นเล็กแบบส้นเข็ม ข้อสังเกตคือ เมื่อใดชายกระโปรงยาว ส้นรองเท้าจะเรียวเล็กลง ถ้าชายกระโปรงสั้นขึ้น รองเท้าจะมีส้นเตี้ยและใหญ่

การแต่งกายของบุรุษนั้นยึดแนวตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างแต่ก็ไม่โลดโผนเหมือนสตรี เช่น เสื้อนิยมปกใหญ่ขึ้น พอเบื่อก็เปลี่ยนเป็นปกเล็ก เนคไทเปลี่ยนขนาดจากใหญ่เป็นกลาง และเล็กตามสมัยนิยม มีหลายรูปแบบ ส่วนกางเกงนิยมทรงหลวมมีจีบบ้าง เรียบบ้าง อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้เครื่องแต่งกายสากลบางแบบไม่เหมาะกับดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมของเมืองไทย แต่ก็อาจถูกกับรสนิยมของผู้สวมใส่และค่านิยมของสังคม

บทความ :  นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก โดย ศิริโชค เลิศยะโส เดือนเมษายน พ.ศ. 2552 , ภาพ : เอนก นาวิกมูล

หมายเหตุ : ดิฉันหาบทความฉบับเต็มและภาพประกอบที่น่าจะตรงกับเนื้อเรื่องอยู่นาน คงได้แค่ประมาณนี้ เพราะที่หอสมุดแห่งชาติก็ไม่มีหนังสือ"เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก"ฉบับนี้(ถามจิง..?) โดยเฉพาะภาพถ่ายที่ตรงกับยุคสมัยและชัดเจน ยิ่งหายากไปกันใหญ่ แล้วนี่อ่ะน่ะ..จะเป็นเมืองแฟชั่นกัน?

ไม่มีความคิดเห็น: